
การทำละลายเนื้อสัตว์แช่แข็ง เพื่อเตรียมใช้ประกอบอาหารนั้น มีหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีจะมีความเฉพาะให้ผลต่างกัน วันนี้เราจึงมีวิธีการทำละลายเนื้อสัตว์แช่แข็ง ด้วย 4 วิธีง่ายๆ มาฝากให้เพื่อนๆ ได้ทราบ และลองนำไปใช้กัน
การละลายเนื้อสัตว์แช่แข็งมีหลายวิธี ตั้งแต่แบบที่ใช้เวลาแค่ 2 นาที จนถึง 24 ชั่วโมง หรือแม้กระทั่งการนำมาทำอาหารเลยโดยไม่ต้องละลายก็ทำได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทุกแบบก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป
วิธีที่ 1 นำมาทำอาหารเลยโดยไม่ละลาย
ข้อดี : สะดวก รวดเร็ว
ข้อเสีย : ทำได้แค่บางเมนู
เวลาที่ใช้ : 0
เราสามารถนำเนื้อสัตว์แช่แข็งไปปรุงสุกทันที โดยไม่ผ่านการละลายเลยก็ได้ แต่ใช้ไม่ได้กับทุกเมนู โดยเมนูที่เหมาะสมคือ การนึ่ง อบ หรือต้ม ที่เป็นการปรุงนานบนความร้อนไม่สูง ทำให้เนื้อสุกได้อย่างทั่วถึง จากภายนอกจนถึงภายใน
วิธีการคือ ให้นำเนื้อสัตว์แช่แข็งออกจากถุง นำมาล้างน้ำเย็นก่อน โดยเปิดน้ำให้ไหลผ่านจนทั่วสักพัก เพื่อเป็นการลดความเย็นลงจากจุดเยือกแข็ง เสร็จแล้วก็ซับให้แห้ง และรีบนำไปทำอาหารเลยทันที
เมนูที่ไม่ควรทำคือ การย่าง และการทอด เพราะเป็นการใช้ความร้อนสูงและเร็ว ทำให้เนื้อสุกแต่ข้างนอก โดยที่ข้างในอาจจะยังแข็งอยู่ แต่ถ้าอยากลองย่างก็พอทำได้ โดยให้วางอาหารทะเลบนแผ่นฟอยล์ ทาน้ำมันและใส่เครื่องปรุงรสที่ต้องการ แล้วห่อฟอยล์ให้มิดชิดก่อนนำไปย่าง
วิธีที่ 2 ละลายในตู้เย็น
ข้อดี : รักษารสชาติและเนื้อสัมผัสของอาหารทะเลได้ดีที่สุด และสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้อีกประมาณ 3 วัน
ข้อเสีย : ใช้เวลานาน
เวลาที่ใช้ : 24 ชั่วโมงขึ้นไป
วิธีนี้ทุกคนยอมรับว่าดีที่สุด แต่เราก็ต้องวางแผนการทำอาหารไว้ล่วงหน้า เพราะต้องใช้เวลาละลายไม่ต่ำกว่า 1 วัน มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับขนาดของอาหารทะเลนั้นๆ
วิธีการคือ ให้นำเนื้อสัตว์แช่แข็งมาแช่ในตู้เย็นช่องปกติ โดยจะคงไว้ในถุงซีลที่ทางร้านบรรจุมา หรือจะนำออกมาห่อฟิล์มใหม่ก็ได้ และให้หาชามมารองไว้ด้วย เพื่อไม่ให้น้ำหยดไปใส่อาหารชนิดอื่นในตู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรระวังอย่างมาก เพราะอาหารที่โดนน้ำจากเนื้อสดจะเสี่ยงต่อเชื้อโรค จึงต้องทิ้งไปเท่านั้น
เมื่อละลายเรียบร้อยแล้ว ก่อนนำไปทำอาหารให้เช็คสภาพของเนื้อดูว่าสมบูรณ์ดีหรือไม่ เนื้อที่สดจริงๆ และได้รับการแช่แข็งมาอย่างดี จนถึงการละลายอย่างถูกต้อง จะเหมือนกับเนื้อสดทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นที่จะต้องสด ไม่ใช่กลิ่นคาวแรงๆ เนื้อที่ต้องมีความยืดหยุ่น ไม่แข็งหรือเละ และสีของเนื้อ ก็ต้องเป็นสีปกติ ไม่มีรอยคล้ำตำหนิใดๆ
เมื่อเช็คอาหารของเราว่ามีสภาพสมบูรณ์ดีแล้ว ก็สามารถนำมาทำอาหารได้ตามปกติ ส่วนที่เหลือก็สามารถแช่เย็นเก็บไว้ได้ถึง 3 วัน แต่ก็จะมีเงื่อนไขต่างๆ ของการแช่ ซึ่งเราจะอธิบายให้ในส่วนถัดไป
วิธีที่ 3 ละลายในน้ำเย็น
ข้อดี : รักษารสชาติและเนื้อสัมผัสของอาหารได้ดี ทั้งยังใช้เวลาไม่นานมาก
ข้อเสีย : ต้องหมั่นเช็คเรื่อยๆ ระหว่างการละลาย และต้องปรุงสุกให้หมดในครั้งเดียว
เวลาที่ใช้ : 1-3 ชั่วโมง
วิธีการคือ ให้ใส่เนื้อสัตว์ในถุงซิปล็อก ปิดให้เรียบร้อย แล้วจึงนำไปแช่ในน้ำเย็น (ตรวจเช็คสภาพถุงให้ดีก่อนแช่ ไม่ให้น้ำเข้าไปในถุงได้) ควรหาอะไรมาวางทับด้านบนด้วย เพื่อให้ถุงอาหารจมลงไปในน้ำทั้งหมด
การละลายจะใช้เวลาประมาณ 1-3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับขนาด แต่ให้หมั่นเช็คทุก 15 นาที โดยใช้นิ้วกดดูเรื่อยๆ ว่าเนื้อยืดหยุ่นหรือยัง ถ้ายังแข็งอยู่ก็ให้ทิ้งไว้ต่อไป และจะต้องคอยเปลี่ยนน้ำให้เย็นอยู่ตลอดเวลา
การละลายวิธีนี้ต้องนำเนื้อมาปรุงสุกเลยทั้งหมด แม้จะทานไม่หมดในครั้งเดียวก็ให้ปรุงสุกทั้งหมดก่อน แล้วค่อยแบ่งไปแช่เย็นหรือแช่แข็งเก็บไว้ เพราะการนำเนื้อสดกลับไปแช่อีกจะทำให้เกิดแบคทีเรียได้
*ย้ำอีกครั้งว่า น้ำที่ใช้แช่ต้องเป็นน้ำเย็น ห้ามแช่ในน้ำอุ่นเด็ดขาด เพราะจะทำให้ละลายเร็วเกินไปอาหารจะเสียรสชาติตามธรรมชาติ และอาจทำให้ผิวด้านนอกเกิดแบคทีเรียก่อนที่เนื้อด้านในจะละลายอีกด้วย
วิธีที่ 4 ละลายในไมโครเวฟ
ข้อดี : สะดวก รวดเร็ว
ข้อเสีย : ต้องนำมาปรุงสุกเลยทันที และเนื้อสัมผัสอาจไม่ดี 100% เหมือนสองวิธีแรก
เวลาที่ใช้ : 2-3 นาที
ถ้าต้องการทำอาหารเลยทันที ก็สามารถละลายเนื้อสัตว์แช่แข็งในไมโครเวฟได้ โดยให้นำอาหารออกจากบรรจุภัณฑ์ของทางร้าน ใส่ลงในภาชนะสำหรับไมโครเวฟ นำใส่ไมโครเวฟตั้งโหมด defrost และตั้งเวลาสัก 2-3 นาที ขึ้นอยู่กับขนาดของอาหาร แต่เราจะต้องเปิดเช็คบ่อยๆ ประมาณทุก 45 วินาที เนื่องจากเนื้อจะต้องไม่สุกในไมโครเวฟโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เนื้อเสียความชุ่มชื้นจนเหนียว เราจึงต้องเปิดเช็คเรื่อยๆ โดยใช้นิ้วกดดู เนื้อที่ละลายเรียบร้อยแล้วจะเปลี่ยนจากแข็งเป็นนุ่ม ยืดหยุ่น เหมือนเนื้อสดทั่วไป แต่จะยังเย็นอยู่ ไม่ได้ถูกเปลี่ย อุณหภูมิไปจนอุ่น หากกดดูแล้วนุ่มก็ให้นำออกมาทำอาหารเลยทันที แต่ถ้ายังแข็งก็ทิ้งไว้ในไมโครเวฟต่อ แล้วเช็คดูทุก 45 วินาทีตามที่บอก
เช่นเดียวกับการแช่ในน้ำเย็น การละลายในไมโครเวฟนั้นเราต้องนำมาปรุงสุกให้หมดทันที และถ้าจะนำกลับไปแช่เย็นหรือแช่แข็งอีกรอบ ก็จะต้องแช่แบบสุกแล้วเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากไม่มั่นใจหรือไม่คุ้นเคยกับเนื้อสัตว์แช่แข็งมาก่อนเลย ก็ควรนำไปละลายก่อนทำอาหารจะดีที่สุด สำหรับ วิธีการทำละลายเนื้อสัตว์แช่แข็ง ด้วย 4 วิธีง่ายๆ ที่เรานำมานั้นหวังว่าเป็นวิธีที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง